“วันพยาธิแพทย์ไทย”
โดย อนุกรรมการวิชาการ
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงแพทย์เฉพาะทางที่ปฏิบัติงานในสาขาต่างๆ
นั้น พยาธิแพทย์เป็นหนึ่งในสาขาที่ประชาชนทั่วไปรู้จักน้อยที่สุด
มีคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของพยาธิแพทย์ที่มีต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย
และก็มีอยู่ไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าจะเรียกแพทย์กลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งที่ถูกต้องจะเรียกว่า“พะ-ยา-ทิ-แพด”
แต่มักอ่านคำหน้าผิดเป็น “พะ-ยาด” ซึ่งหมายถึง ปรสิต จึงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพยาธิแพทย์คือแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษา “โรคหนอนพยาธิ”
ความจริงแล้ว
พยาธิแพทย์คือแพทย์ที่มีบทบาทด้านการวินิจฉัยโรค โดยการตรวจวิเคราะห์เนื้อเยื่อ ของเหลวในร่างกายของผู้ป่วยหรือตรวจศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล
แล้วแปลผลสิ่งที่ผิดปกติ ออกมาเป็นการวินิจฉัยโรค ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะนำผลการวินิจฉัยนั้นไปใช้ในการรักษาคนไข้หรือเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ต่อไป
พยาธิแพทย์แบ่งออกได้เป็นสองสาขา คือ พยาธิวิทยากายวิภาค
และพยาธิวิทยาคลินิก พยาธิแพทย์ในสาขาแรกนั้น
จะทำหน้าที่วินิจฉัยโรคจากการวิเคราะห์ดูความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง
และรูปร่างของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ แล้วให้การวินิจฉัยโรคออกมา
ส่วนพยาธิแพทย์คลินิกนั้นทำหน้าที่ควบคุมดูแล
งานด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพ
รวมทั้งให้การวินิจฉัยโรคจากสิ่งส่งตรวจต่างๆ
ที่ส่งมาตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมการตรวจจากเลือด ปัสสาวะ
อุจจาระ สิ่งส่งตรวจอื่นๆ จากผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น
จำเป็นต้องใช้หลักฐานจากผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นส่วนที่สำคัญ
สำหรับประกอบการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ผลการรักษาเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด
ในการปฏิบัติงานทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ดังกล่าวต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์พยาธิวิทยาคลินิก
นักวิทยาศาสตร์ และนักเทคนิคการแพทย์
โดยแพทย์พยาธิวิทยาคลินิกเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการทดสอบ
และการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเชื่อมโยงผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการกับลักษณะทางคลินิกแก่แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย
ตามมาตรฐานของห้องปฏิบัติการระดับสากลและนานาอารยประเทศ
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า “พยาธิแพทย์” มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย
เนื่องจากเป็นผู้ให้การวินิจฉัยโรค ซึ่งหากปราศจากแพทย์สาขานี้แล้ว
แพทย์ผู้รักษาคนไข้ย่อมไม่สามารถรักษาความเจ็บป่วยได้อย่างเหมาะสม เพราะไม่ทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร
แพทย์อีกสาขาหนึ่งที่มีการทำงานใกล้เคียงกับพยาธิแพทย์ก็คือ
“แพทย์นิติเวช” โดยแทนที่จะมีบทบาทด้านการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาเช่นเดียวกับพยาธิแพทย์
แพทย์เฉพาะทางสาขานี้จะมีบทบาทเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก โดยมีหน้าที่นำข้อมูลที่ได้จากการตรวจผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้เสียหาย
ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว ไปเป็นพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม
ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนไปจนถึงการดำเนินการพิจารณาในศาล
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังขาดแคลนพยาธิแพทย์ และแพทย์นิติเวชอยู่มากพอสมควร
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรปบางประเทศ ญี่ปุ่น
หรือ ประเทศเกาหลีใต้ ฯลฯ สัดส่วนของแพทย์ทั้งสองสาขาต่อประชากรของบ้านเรายังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งมีผู้บริหารทั้งที่เป็นพยาธิแพทย์และแพทย์นิติเวช
ตระหนักถึงปัญหานี้มาตลอด จึงได้พยายามรณรงค์ให้แพทย์รุ่นใหม่ๆเกิดความสนใจ อยากเลือกเรียนต่อทางพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์เพื่อยึดเป็นอาชีพในอนาคต
เพิ่มขึ้น
กิจกรรมหนึ่งที่ราชวิทยาลัยฯกำหนดให้มีขึ้น
เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของพยาธิแพทย์รวมถึงแพทย์นิติเวช คือ การกำหนดให้มี“วันพยาธิแพทย์ไทย”ขึ้นมา
ซึ่งตรงกับวันที่ 26
พฤษภาคม ของทุกปี โดยนำเอาวันที่ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส”
ซึ่งเป็นพยาธิแพทย์รุ่นบุกเบิกในประเทศไทย
ถึงแก่อนิจกรรมมากำหนดให้เป็นวันดังกล่าว
ความจริงแล้ว ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์(Royal
College of Pathologists) ของเขาเองก็มีการกำหนดวันพยาธิวิทยานานาชาติขึ้นมาเหมือนกัน
(International
Pathology Day) โดยในวันดังกล่าว
จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์งานของพยาธิแพทย์ให้กับสังคมได้รับทราบ
เช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงานทางพยาธิวิทยาตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมหรือการจัด
workshop
ในโรงเรียน และพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายให้แก่เยาวชน เพื่อจะได้รู้จักแพทย์ที่ทำงานทางด้านนี้ซึ่งอาจเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆเหล่านี้อยากเป็นพยาธิแพทย์ในอนาคต
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
การกำหนดให้มี “วันพยาธิแพทย์ไทย” ซึ่งตรงกับ วันที่ 26 พฤษภาคม
ของทุกปีขึ้นมาในบ้านเรานั้น จะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของงานทางด้านพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ในประเทศ
ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันอีกอย่างให้เกิดการพัฒนางานทั้งสองสาขานี้ยิ่งๆขึ้น อันจะส่งผลให้มาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยรวมถึงมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมของไทยดีขึ้นตามมา
ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/rcthaipathologist/ |
|
Asian Archive of Pathology www.asianarchpath.com |
|
แพทยสภา www.tmc.or.th |
|
International Academy of Pathology, Thailand Division www.iapthailand.com |
|
สมาคมแพทย์นิติเวขแห่งประเทศไทย www.fpath.org |
|
สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ www.iop.or.th |
|
Digital kidney pathology http://Thaikidneypath.org |